2551-07-16

ผ่าตัดกระเพาะ ลดความอ้วน!!

จากสถิติคนไทยเป็น "โรคอ้วน" เฉลี่ยแล้ว 6% ของจำนวนประชากร ถือเป็นอุบัติการณ์ที่มีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ และยังพบว่าเด็กอ้วนเมื่อโตขึ้นก็มีโอกาสเป็นโรคอ้วนได้มากเช่นกันทางการแพทย์ได้ระบุไว้ว่า "ความอ้วน" ถือเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษา ซึ่งในความหมายทางการแพทย์ แล้ว "โรคอ้วน" คือผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 40 กิโลกรัม แต่ใช่ว่าทุกคนที่มีน้ำหนักตัวมากจะเป็นโรคอ้วนคนอ้วนสามารถแบ่งได้หลายระดับ คือ อ้วนปกติ อ้วนน้ำหนักเกิน คนอ้วน คนเป็นโรคอ้วน และซุปเปอร์โรคอ้วน สุดท้ายซุปเปอร์โรคอ้วนแต่มาวันนี้มีวิธีการลดความอ้วนที่น่าอัศจรรย์อย่างคาดไม่ถึง นั่นคือ การลดความอ้วนด้วยการผ่าตัดกระเพาะอาหารในร่างกายเรื่องจริงเรื่องนี้เกิดขึ้นแล้ว โดยมี ธนัท รัตนพันธ์ ชายหนุ่มวัย 29 ปี ที่เคยมีน้ำหนักตัวสูงถึง 165 กิโลกรัม ส่วนสูง 174 เซนติเมตร ผ่านการลดความอ้วนมาแล้วสารพัดวิธี จนสุดท้ายมาถึงการผ่าตัดกระเพาะ เล่าถึงความอึดอัดที่ต้องทนทุกข์ทรมานแบกรับน้ำหนักตัวที่เกินกว่าจะรับไหว เพียงเพราะความอยาก และการตามใจปากมากเกินไปธนัทเล่าว่า เพราะเป็นหลานคนเดียวในบ้าน ทุกคนจึงตามใจและเลี้ยงดูอย่างดีมาก อยากกินอะไรก็ได้กิน กินไก่แต่ละครั้งเป็นตัวๆ เนื้อย่างติดมันครั้งละ 5 จาน ทุเรียนก็กินทีละเป็นลูกๆ ชอบกินอาหารพวกไขมัน โปรตีน และขนมหวาน หนึ่งวันของคนอื่นกินอาหาร 3 มื้อ แต่สำหรับเขากินได้วันละถึง 4-5 มื้อ แต่ละมื้อไม่ใช่น้อยๆ"ตอนเด็กๆ ยังไม่อ้วนมาก มาอ้วนเอาตอนเรียนชั้น ป.6 น้ำหนักขึ้นมาอยู่ที่ 100 กิโลกรัมพอดี แต่โชคดีที่ช่วงนั้นเล่นเทนนิสออกกำลังกาย และวิ่งขึ้นดอยสุเทพ ทำให้พอขึ้นชั้นมัธยม 2 น้ำหนักลดลงมาอยู่ที่ 65 กิโลกรัม แต่ก็ยังกินเยอะอยู่เหมือนเดิม พอต่อมาไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ไม่ได้เล่นกีฬาสักเท่าไหร่ แต่การกินเท่าเดิม จึงทำให้กลับมาอ้วนอีกครั้ง คราวนี้น้ำหนักขึ้นแล้วไม่ยอมลงง่ายๆ"เสียงบอกเล่าของธนัทยังดังต่อไปว่า มาอ้วนเอาจริงเอาจังตอนช่วงอายุ 17-26 ปี เป็นช่วงที่ใช้ร่างกายหนักมาก จึงทำให้กินมากด้วย ในช่วงเวลา 7 ปี น้ำหนักตัวของเขาเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตัว เสื้อผ้าต้องเปลี่ยนตลอด เพราะร่างกายขยายขึ้นเรื่อยๆ "คือตอนนั้นไปเปิดผับกับเพื่อนๆ ร่วมหุ้นกัน ขณะเดียวกันก็ทำงานประจำด้วย ทำให้วงจรชีวิตมีเวลาพักผ่อนน้อยมาก แต่กลับกินอาหารเยอะมาก มื้อเช้า กลางวัน เย็น แล้วยังกินอีกสองมื้อตอน 2 ทุ่ม กับตอนตี 3 กินวนเวียนอยู่แบบนี้ ก็พยายามจะลดน้ำหนักเหมือนกัน แต่แค่เดินยังลำบากเลย ฝ่าเท้าแตกเพราะต้องรับน้ำหนักตัวมาก เวลาเดินจะเจ็บมาก และปวดหลังอีกด้วย"แค่นั้นยังไม่พอสำหรับเขา ผลของความอ้วนทำให้เขาต้องเป็นโรคที่ภาษาหมอเรียกว่า "สลีป แอ็บเนีย ซินโดรม" (Sleep Apnea Sindrom) คือ เป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบหายใจติดขัดขณะนอนหลับ และมีเสียงกรนดังมาก "ต้องสะดุ้งตื่นในตอนกลางคืนวันละ 7 ครั้ง ระยะหลังเลยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ โรคนี้ขณะที่นอนทรมานมากเพราะหายใจไม่ทัน เป็นอยู่ 1 ปีเต็ม แม้ตอนขับรถก็หลับ ฝันได้เลย ถึงขั้นต้องจอดรถนอนแบบนี้ก็มีนะ คือ นั่งคุยอยู่ดีๆ ก็หลับไปซะงั้น"เมื่อร่างกายของเขาต้องทรมานขนาดนี้ หนทางเดียวที่จะแก้ปัญหาคับอกคับใจของเขาได้ คือการไปพบแพทย์ "รู้สึกว่ามันไม่ปกติเลยตัดสินใจไปปรึกษาแพทย์เพื่อรักษา แต่ก่อนหน้าจะไปพบแพทย์ ได้ใช้วิธีอื่น พยายามกินยาลดความอ้วน แต่ไม่สำเร็จ เพราะว่าน้ำหนักก็เพิ่มอีกและรู้สึกเครียด มือสั่น ใจสั่น หมอแนะนำว่าให้ผ่าตัดกระบังลม ซึ่งจะช่วยให้หายใจคล่องขึ้น 70% แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจทำ""กระทั่งตกลงใจไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งเป็นหมอรักษาโรคอ้วนโดยเฉพาะ หมอแนะนำให้ใช้วิธีการควบคุมอาหารก่อน กลับมาบ้านมาทำตามคำแนะนำหมอ แต่น้ำหนักก็ไม่ยอมลด ในที่สุดหมอเขาส่งตัวไปที่แผนกศัลยกรรม บอกว่าต้องใช้วิธีผ่าตัดกระเพาะ ใช้ยางรัดกระเพาะไว้เพื่อทำให้เรากินได้น้อยลง" ทันทีที่หมออธิบายถึงวิธีการรักษา เขาไม่ลังเลอะไรทั้งสิ้น ตัดสินใจผ่าตัดทันที ยังไม่ทันจะปรึกษาใครด้วยซ้ำ รู้เพียงแต่ว่าจะต้องผอมให้ได้และไม่มีอะไรจะน่ากลัวไปกว่าความอ้วนอีกแล้วจากนั้น ธนัท ก็เข้ารับการผ่าตัดภายใต้การดูแลของหมอจากโรงพยาบาลรามาธิบดีเขาเล่าว่า การผ่าตัดกระเพาะอาหารมีหลายวิธีด้วยกัน แต่วิธีที่เขาเลือกใช้ คือ "เครื่องล็อคกระเพาะ" ทำให้กระเพาะเล็กลง เพื่อกินได้น้อยลง เครื่องมือที่ว่านี้สามารถยืดหยุ่นได้ตามความต้องการ หากต้องการกินน้อยก็จะมีน้ำยาฉีดเข้าไปทำให้ยางบีบแน่นขึ้นและคลายลงตามแต่คนไข้และแพทย์ตกลงกัน"หลังจากผ่าตัดใส่เครื่องล็อคกระเพาะ เดือนแรกน้ำหนักลดได้ถึง 17 กิโลกรัม อาการของโรคสลีป แอ็บเนีย ซินโดรม ก็หายไป น้ำหนักลดลงมาได้ เหมือนเกิดใหม่ สบายตัวขึ้นมากต้องถือว่าประสบความสำเร็จนับจากวันที่ผ่าตัดมาจนถึงวันนี้สามารถลดน้ำหนักได้ถึง 61 กิโลกรัม"ในทางทฤษฎีของหมอ การใช้เครื่องล็อคกระเพาะจะได้ผลดีกับคนที่ควบคุมตัวเองได้ และคนที่หิวบ่อยๆ"เดือนแรกกินอะไรไม่ได้ หมอให้กินแต่น้ำซุปเพราะว่ากระเพาะยังไม่เข้าที่ ห้ามกินอาหารแข็งๆ อยากกินหมูก็เคี้ยวให้รู้สึกถึงรสชาติเท่านั้นแล้วให้คายออก ผมแอบกลืนลงคอเหมือนกัน แต่แล้วก็อาเจียนออกมา"ธนัทว่ามาถึงตอนนี้อยู่ที่ตัวเองจะควบคุมเองแล้ว"ถ้าเราออกกำลังกายเราก็จะลดได้อีก ถ้าผมไม่กินพวกนม พวกน้ำหวาน ก็ลดได้ยิ่งกว่านี้อีก เพราะตัวนี้จะควบคุมได้เฉพาะพวกของแข็ง ถ้าเป็นของเหลวจะไหลผ่านลงกระเพาะไปเลย ถ้ากินมากอาหารก็จะล้นกระเพาะ ทำให้บางทีต้องไปอาเจียน" ถามว่ามีความสุขกับการทำแบบนี้ไหม?"มีความสุขมาก เหมือนเกิดใหม่ เพราะเรายังมีความสุขกับการกินได้เหมือนเดิมอยากกินอะไรก็กิน แต่จะกินในปริมาณที่น้อยลงถึง 1 ใน 4 ส่วน ขณะนี้น้ำหนักตัวผมอยู่ที่ 103 กิโลกรัม รอบเอวเหลือ 40 นิ้ว ลดจากเดิม 54 นิ้ว ตั้งใจว่าจะลดลงเรื่อยๆ ให้เหลือน้ำหนัก 70 กิโลกรัม และคงต้องออกกำลังกายช่วยด้วย"การที่มีเครื่องมืออย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ในกระเพาะ ธนัทบอกว่าไม่รู้สึกว่ามีอะไรอยู่ในท้องเลย ไม่มีอะไรน่ากลัว "ผมว่าการที่เราเป็นโรคอ้วนแบบที่เป็นก่อนหน้านี้มันน่ากลัวกว่ามาก แต่การผ่าตัดกระเพาะค่าใช้จ่ายอาจจะสูงเกือบ 2 แสนบาท อาการหลังผ่าตัดมีเจ็บแผลที่ท้อง แต่ก็เจ็บแค่ 3 วันแรก พอหนึ่งอาทิตย์ผ่านไปก็ไม่เป็นอะไรแล้ว เดินสบายเหมือนเดิม"บางคนบอกไม่กล้าทำเพราะกลัวเป็นแผลเป็นที่ท้อง แต่ผมบอกได้เลยว่ามีแผลเป็นที่ท้องกับการเป็นโรคอ้วน ผมยอมมีแผลเป็นดีกว่ามีไขมันสะสม" กล่าวพร้อมกับหัวเราะด้าน นายแพทย์ธีรพล อังกูลภักดีกุล แพทย์ศัลยกรรมโรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะกรรมการโรคอ้วน โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ทำการรักษาโรคอ้วน อธิบายถึงเรื่องผ่าตัดกระเพาะลดอ้วน ว่า มีการวิจัยพบว่า "โรคอ้วน" เป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก เพียงแต่ว่ายังไม่แพร่หลายในคนไทย"ทางหมอเองยังไม่กล้าให้ความรู้ ไม่กล้าไปพูดมากกลัวจะเป็นการชวนเชื่อ ซึ่งตามทางการแพทย์แล้ว การผ่าตัดกระเพาะเป็นวิธีหนึ่งในการรักษาโรคอ้วน คนอ้วนก็ใช่ว่าจะเป็นโรคอ้วนไปเสียทุกราย บางคนอ้วน แต่ไม่เป็นโรคอ้วนก็มี"คุณหมอธีรพลบอกว่า คนที่เป็นโรคอ้วน ชีวิตขัยจะสั้น เพราะมีโรคแทรกซ้อน ทั้งโรคความดัน โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และมีโอกาสเป็นโรคหัวใจสูงกว่าคนปกติ ส่วนโรค "สลีป แอ็บเนีย ซินโดรม" เป็นอาการ "หยุดการหายใจขณะหลับ" เกิดขึ้นจากบริเวณทางเดินหายใจเล็กกว่าปกติ เวลาที่คนไข้หลับลึกหรือหลับสนิทจะมีภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจ สังเกตได้ง่ายๆ จากการนอนกรน และนอนหลับๆ ตื่นๆ คนไข้ที่เป็นโรคอ้วนส่วนใหญ่จะเป็นโรคนี้ คุณหมอยังบอกว่า อาการเหล่านี้ทำให้คนที่เป็นโรคอ้วนบางคนมีปัญหาทางด้านจิตเวชด้วย เนื่องจากเข้าสังคมไม่ได้ ความมั่นใจในตัวเองลดลง บางคนซึมเศร้าส่งผลทำให้กินมากขึ้นไปอีกอย่างไรก็ตาม ถึงวันนี้ยังหาสาเหตุการอ้วนที่แท้จริงยังไม่พบ แต่เชื่อว่าประมาณ 1 ใน 3 เกิดจากกรรมพันธุ์ แต่กรรมพันธุ์ไม่ใช่สาเหตุหลัก "มีผลงานวิจัยว่า อาหาร สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ค่านิยม ส่งผลให้เกิดโรคอ้วนในระดับที่แตกต่างกัน เช่น ประเทศอินเดีย มีคนอ้วนมาก เนื่องมาจากชนิดของอาหารที่รับประทาน แต่ปัจจุบันนี้ดีขึ้น" คุณหมอบอกสำหรับประเทศที่มีคนเป็นโรคอ้วนมากที่สุดในโลก คือ ชาวอเมริกัน มีมากกว่าชาวยุโรป เพราะคนอเมริกันเป็นพวกบริโภคนิยม ซึ่งมีตัวเลขผู้ป่วยที่เป็นโรคอ้วนสูงถึง 15-20% และยังพบผู้ป่วยที่เข้าข่ายอ้วนอาจจะเกินหนึ่งใน 3 ของประชากรนอกจากนี้ ยังมีการศึกษาวิจัยพบว่า แนวโน้มเด็กอ้วนที่ตอนเล็กตัวใหญ่มาก พอโตขึ้นมีโอกาสเป็นโรคอ้วนได้มากกว่าคนที่ไม่อ้วนตั้งแต่เด็ก"การผ่าตัดกระเพาะรักษาโรคอ้วนทางตะวันตกทำกันมานานแล้วประมาณ 50-60 ปี แต่ทางเอเชียไม่ได้ทำกันแพร่หลาย ส่วนการอดอาหารลดอ้วน เปลี่ยนพฤติกรรมบริโภค หรือการกินยา ไม่ใช่วิธีการรักษาโรคอ้วน แต่อาจจะได้ผลกับคนที่อยู่ในภาวะน้ำหนักเกิน ต้องเข้าใจว่าภาวะการรักษาโรคอ้วนกับภาวะคนที่น้ำหนักเกินมันคนละเรื่อง"คุณหมอย้ำว่า การลดความอ้วนตามศูนย์ลดน้ำหนักอาจจะเหมาะสำหรับคนที่น้ำหนักเกิน แต่ไม่ใช่คนที่เป็นโรคอ้วนและว่า การผ่าตัดกระเพาะเป็นการรักษาคนไข้ ไม่ใช่ผ่าตัดเพื่อความสวยความงาม การผ่าตัดกระเพาะไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ แพทย์ที่จะทำการผ่าตัดต้องมีความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์พอสมควร เนื่องจากเป็นการผ่าตัดผ่านกล้องที่ลึกก่อนการผ่าตัดหมอต้องตรวจสอบก่อนว่าผู้ที่มาให้หมอผ่าตัดเป็นโรคอ้วนหรือไม่ บางคนอาจจะเป็นแค่ภาวะน้ำหนักเกิน ก็อาจให้คำแนะนำเรื่องโภชนาการ ให้ควบคุมอาหาร หรือแม้แต่คนที่เป็นโรคอ้วนก็ต้องลองวิธีอื่นก่อน ถ้าไม่ได้ผลจึงจะทำการผ่าตัดต้องเข้าใจว่าไม่ได้ผ่าตัดในคนอ้วน แต่จะผ่าตัดในคนที่เป็นโรคอ้วน ปัจจุบันการผ่าตัดมีการพัฒนาขึ้น คนไข้ไม่ต้องถูกผ่าท้อง เพียงแต่ว่าใช้การเจาะท้อง 4-6 รูเพื่อเอาเครื่องมือสอดเข้าไปทำการผ่าตัดผ่านกล้อง ซึ่งวิธีนี้คนไข้จะฟื้นตัวเร็ว ได้ผลกว่าการผ่าตัดแบบเปิด"เรื่องของอันตรายมีแน่นอน เหมือนการผ่าตัดทั่วไป แต่เรายังไม่พบคนไข้ที่มีภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด เรามีเรื่องของการติดเชื้อที่แผลบ้าง 2 ราย จากทั้งหมดที่ผ่าตัด 50 ราย ไม่ทราบว่าเกิดจากอะไร แต่ก็ทำการรักษาเรียบร้อยแล้ว"คุณหมอธีรพลบอกปิดท้ายว่า เท่าที่ทำการผ่าตัดมามีผู้ป่วยที่สามารถลดน้ำหนักได้สูงสุดประมาณ 70 กิโลกรัม จากน้ำหนัก 180 กิโลกรัม ใช้เวลาประมาณ 1 ปี เฉลี่ยแล้วผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดไปแล้วสามารถลดน้ำหนักได้ประมาณ 40-50 กิโลกรัม "ตอนนี้ที่โรงพยาบาลรามาฯ ยังมีคนไข้ที่รอผ่าตัดอยู่อีกประมาณ 10 กว่าคน การผ่าตัดกระเพาะจะมีค่าใช้จ่ายสูงประมาณ 1.5 ถึง 2 แสนบาทในโรงพยาบาลรัฐบาล ถ้าเป็นโรงพยาบาลเอกชนจะอยู่ที่ 3-5 แสนบาท ถ้าเทียบกับการลดน้ำหนักตามศูนย์ลดความอ้วนแล้ว ไม่ต่างกันนักหมดเงินเป็นแสนเหมือนกัน แต่ที่ต่างคือแทนที่น้ำหนักจะลดลง น้ำหนักกลับเพิ่มขึ้นมาอีก"การผ่าตัดกระเพาะเพื่อลดอ้วน แม้ว่าในทางการแพทย์ยังไม่ใช่แนวทางของการมีสุขภาพดีแต่สำหรับคนป่วยเป็นโรคอ้วนแล้ว เมื่อได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด นอกจากจะทำให้สุขภาพแข็งแรงแล้ว ก็ยังทำให้พวกเขาสามารถกลับมาทำงาน และอยู่ได้ในสังคมอย่างไม่ถูกมองอย่างแปลกแยกว่ามีปมด้อยอีก


โดย สุชาฏา ประพันธ์วงศ์